วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วัฒนธรรมภาคอีสาน

การฟ้อนพื้นบ้านอีสาน
การฟ้อนรำของมนุษย์จะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์มีความเจริญทางอารมณ์และจินตนาการ ความสร้างสรรค์พอสมควร ดังนั้นมนุษย์ในทุกๆ หมู่จะมีการเต้นรำหรือฟ้อนรำเป็นของตนเอง และพัฒนารูปแบบขึ้นมาตามลำดับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการฟ้อนรำว่า


"การฟ้อนรำย่อมเป็นประเพณีในเหล่ามนุษยชาติทุกภาษาไม่เลือกว่าจะอยู่ ณ ประเทศถิ่นสถานที่ใด
ในพิภพนั้นคงมีวิธีฟ้อนรำตามวิสัยชาติของตนด้วย ทั้งนั้น อย่าว่าแต่มนุษย์เลย ถึงแม้สัตว์เดรัจฉาน
ก็มีวิธีฟ้อนรำ ข้อนี้สังเกตเห็นได้ง่าย เช่น สุนัข และไก่กา เป็นต้น"


ในการที่จะวินิจฉัยว่ามนุษย์หมู่ใดมีความเจริญก้าวหน้าหรือล้าหลังหมู่อื่น โดยใช้แบบหรือศิลปะการแสดงมาเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ โดยเฉพาะการฟ้อนรำของชนในชาตินั้น การฟ้อนรำจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
  • การฟ้อนรำของชาวบ้าน (folk dance) คือการฟ้อนรำอันเกิดจากความรู้สึกของชนธรรมดาสามัญ โดยไม่ต้องมีการฝึกหัดหรือมีก็เพียงเล็กน้อย เต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีชีวิตชีวา
  • การฟ้อนรำตามแบบแผน (classical dance) คือการฟ้อนรำที่ต้องอาศัยการฝึกหัดกันตามแบบฉบับ มีครูอาจารย์ตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น การรำละครของไทย ซึ่งยกย่องว่าเป็นของสูง การฟ้อนรำตามแบบแผนไม่สามารถแสดงอารมณ์กับคนดู จึงเป็นความงามที่ปราศจากชีวิตคล้ายหุ่นที่ร่ายรำ

เอกลักษณ์การฟ้อนภาคอีสาน
การฟ้อนของภาคอีสานนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่ผู้ชมสามารถแยกแยะได้ทันทีว่าต่างจากภาคอื่นๆ แม้จะไม่มีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าก่อนการแสดงซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
  1. ท่วงทำนองของดนตรี จังหวะ ลีลาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีความสนุกสนานเร้าใจแตกต่างจากภาคอื่นๆ ของไทย
  2. การแต่งกายของผู้แสดง ทั้งนักแสดงหญิงและชายจะมีความเด่นชัด ในฝ่ายหญิงจะนุ่งซิ่นมัดหมี่ สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มผ้าสไบหรือแพรวา ผมเกล้ามวย ฝ่ายชายจะสวมเสื้อม่อฮ่อม นุ่งโสร่งผ้าลายเป็นตาๆ ก็พอจะบอกได้ว่าเป็นการแสดงของอีสาน
  3. เครื่องดนตรี นับเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของภาคอีสานอบ่างชัดเจน พิณ แคน โปงลาง โหวด ไหซอง กลองตุ้ม ถึงแม้จะยังไม่มีการบรรเลงก็พอจะบอกได้ว่า การแสดงต่อไปนี้จะเป็นการแสงของภาคอีสาน
  4. ภาษาอีสาน แน่นอนว่าเป็นภาษาเฉพาะถิ่นที่มีสำเนียงที่แตกต่าง เป็นการชี้ชัดว่าเป็นการแสดงของภาคอีสาน
ท่าฟ้อนพื้นบ้านอีสาน
ท่าฟ้อนของภาคอีสานนั้นมีความเป็นอิสระสูง ไม่มีข้อจำกัดตายตัวทั้งมือและเท้า ส่วนใหญ่ท่าฟ้อนจะได้มาจากท่าทางหรืออริยาบถธรรมชาติ และมีท่าพื้นฐานที่แตกต่างกันไปเฉพาะถิ่น เช่น ฟ้อนผู้ไท ฟ้อนผีฟ้า ฟ้อนไทยดำ เรือมอันเร เป็นต้น
            ถึงแม้จะมีความคิดที่จะพยายามกำหนดท่าฟ้อนของภาคอีสานให้เป็นแบบฉบับขึ้น มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับนาฏศิลป์ภาคกลางที่มี "ท่าแม่บท" เป็นพื้นฐานในการฟ้อนรำนั้น เป็นแนวคิดหนึ่งที่ต้องการให้การฟ้อนภาคอีสานมีระบบ และหลักเกณฑ์ที่แน่นอนขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นแนวคิดที่ถูกต้องนัก เพราะจะเป็นการตีกรอบให้ตัวเองมากเกินไป ซึ่งตามจริงแล้วท่าฟ้อนของอีสานมีความเป็นอิสระไม่มีการกำหนดท่าแน่นอนตายตัวว่าเป็นท่าอะไร ขึ้นอยู่กับผู้ประดิษฐ์ท่ารำจะตั้งชื่อว่าเป็นท่าอะไร ความเป็นอิสระนี่เองที่ทำให้เกิดท่าฟ้อน ชุดใหม่ๆ ที่แปลกตา สวยงามยิ่งขึ้น

ท่าฟ้อนที่เป็นแม่แบบส่วนใหญ่นำมาจากกลอนลำ ซึ่งเรียกว่า "กลอนฟ้อน" เป็นกลอนยาวใช้กลอนเจ็ดแปดหรือกลอนเก้าแล้วแต่ผู้แต่งถนัดแบบใด การฟ้อนเป็นศิลปอันหนึ่งที่มาพร้อมกับการลำ การฟ้อนจะมีกี่แบบไม่ปรากฏแน่ชัด แต่หมอลำจะแต่ง กลอนฟ้อนแบบต่างๆ ไว้ ในขณะที่ลำหมอลำจะฟ้อนแสดงท่าทางตามกลอนที่แต่ง ดูแล้วเป็นการสนุกสนาน เช่น กลอนฟ้อน ของหมอลำเปลี่ยน วิมลสุข
            มีความพยายามในการแบ่งท่ารำภาคอีสานออกมาให้ชัดเจนซึ่งมีหลายสำนัก เช่น จิราภรณ์ วุฒิพันธ์ (นาฏศิลป์อีสาน) ได้แบ่งออกเป็น 32 ท่า ดังนี้


  1. ท่าแฮ้งตากขา
  2. ท่ากาตากปีก
  3. ท่าหลีกแม่ผัว
  4. ท่าคว้าหำปู
  5. ท่าไกวอู่กล่อมหลาน
  6. ท่าหนุมานคลุกฝุ่น
  7. ท่าตุ่นเข้าอู่
  8. ท่าหนุมานถวายครูพิเภก
  9. ท่าหนุมานถวายแหวน
  10. ท่าแห่บั้งไฟแสน
  11. ท่าเมาเหล้า
  12. ท่าลำเจ้าชู้หยิกหยอกตาหวาน
  13. ท่านักเลง
  14. ท่ากวยครูมวยซิต่อย
  15. ท่ากินรีเที่ยวชมดอกไม้
  16. ท่านกยูงรำแพน
  1. ท่าผีไท้ลงข่วง
  2. ท่าพายเฮือส่วง
  3. ท่าลำเกี้ยวกันพวกหมอลำคู่
  4. ท่าลำหมู่ออกท่าลำเพลิน
  5. ท่ามโนราห์เหาะเหิรบินบนขึ้นเลิ่น
  6. ท่ารำโทนสมัยก่อน
  7. ท่าเสือออกเหล่า
  8. ท่าเต่าลงหนอง
  9. ท่าปลาชะโดลงคลอง
  10. ท่าแอะแอ่นแหงงมือให้เรียบ
  11. ท่านักมวย
  12. ท่างัวชนกัน
  13. ท่าคนโบราณเลื่อยแป้น
  14. ท่าสาวเตะกล้า
  15. ท่าผู้เฒ่าจับอู่โหย่นหลาน
  16. ท่าแม่ลูกอ่อนกินนม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น